เป็นเรื่องที่พอทราบกันดีว่าอายุขัยโดยเฉลี่ยของเรานั้นมีเท่าไหร่ จากข้อมูลธนาคารโลกใน ปี ค.ศ. 2017 ระบุว่าอายุขัยเฉลี่ยประชากรในไทยอยู่ที่ 76.68 ปี ในขณะที่การจัดอันดับของซีไอเอเวิลด์แฟกต์บุ๊กในปี ค.ศ. 2018 ประเทศไทยนั้นอยู่อันดับที่ 65 มีค่ามัธยฐานของอายุประชากรอยู่ที่ 37.7 ปี จากทั้งหมด 230 ประเทศ ในขณะที่ประเทศที่มีประชากรเฉลี่ยมีอายุมากที่สุดก็คือประเทศโมนาโก มีค่ามัธยฐานอยู่ที่ 53.1 ปี โดยมีค่าอายุขัยเฉลี่ยอยู่ที่ 84.7 ปี
*มัธยฐาน คือการวัดแนวโน้มสู่ส่วนกลางชนิดหนึ่ง ในที่นี้คือ ‘มัธยฐานอายุ’ จะทำการแบ่งประชากรออกเป็นสองกลุ่มให้มีขนาดเท่าๆกัน และค่ามัธยฐานที่ได้ก็คือค่าตรงกลาง ซึ่งเป็นกลุ่มของคนที่มีอายุน้อยกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ที่มีอายุมากกว่า วิธีการเช่นนี้เป็นการอ้างอิงดัชนีเดียวที่สรุปการกระจายตัวของประชากร
ขณะที่ประชากรโลกในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 2020 ก็ทะลุไปที่ 7,800 ล้านคนแล้ว (เดือนมีนาคมปี ค.ศ. 2020) ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่เยอะจนน่าตกใจ เพราะหากศึกษาประวัติศาสตร์ของมนุษย์ก็จะพบว่า เราต้องใช้เวลากว่า 2 ล้านปี ในยุคก่อนประวัติศาสตร์และยุคประวัติศาสตร์รวมกันกว่าจะมีประชากรร่วมที่ 1 พันล้านคน ในปี ค.ศ. 1804 หลังจากนั้นเพียงแค่ร้อยปีต่อมาประชากรโลกก็เพิ่มสูงขึ้นเป็น 2 พันล้านคน ในปี ค.ศ. 1927, 3 พันล้านคน ในปี ค.ศ. 1959, 4 พันล้านคนในปี ค.ศ. 1974, 5 พันล้านคนในปี ค.ศ. 1987, 6 พันล้านคนในปี ค.ศ. 1999 และ 7 พันล้านคนในปี ค.ศ. 2011 ซึ่งในตอนนี้เราก็นับถอยหลังเข้าสู่หลัก 8 พันล้านคนแล้วที่คาดว่าน่าจะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่ปีจากนี้ โดยสรุปเพื่อเห็นภาพรวมว่าประชากรโลกของเราเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดแค่ไหน เราต้องมองย้อนกลับไปในอดีตเมื่อไม่นานมานี้ ก็จะเห็นว่ามนุษย์โลกเพิ่มขึ้นมามากกว่า 7 พันล้านคน จากช่วงระยะเวลาเพียงแค่ 200 ปีหลังสุด
อย่างไรก็ตามจำนวนตัวเลขที่นำเสนอนี้คือจำนวนประชากรที่ยังมีชีวิตอยู่บนโลก ในความเป็นจริงแล้วพวกเรามีเกิดแก่เจ็บตายวนเวียนอยู่ตลอดเวลา เพียงแต่ว่าอัตราการเกิดมีแนวโน้มที่สูงกว่าเท่านั้น แต่หากเราจะพูดถึงจำนวนผู้คนที่เคยอาศัยอยู่บนโลกใบนี้ล่ะ ซึ่งเป็นผู้คนที่เคยมีตัวตนอยู่เมื่อในอดีตที่ปัจจุบันได้เสียชีวิตไปแล้ว ถ้านับรวมจำนวนผู้คนเหล่านั้นด้วย โลกของเราเคยผ่านสายตาของมนุษย์มาแล้วกี่คนซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก
ตามการประมาณการของนักวิจัยด้านประชากรศาสตร์จาก ‘สำนักอ้างอิงประชากร’ (Population Reference Bureau: PRB) ในปี ค.ศ. 2019 ก็พบว่ามีจำนวนของมนุษย์กว่า 108,760 ล้านคน ที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วบนโลก! หากเราลบออกด้วยจำนวนประชากรโลกที่ยังมีชีวิตอยู่ราว 7,692 ล้านคน (จำนวนประชากรโลกในปี ค.ศ. 2019) เราก็จะได้ตัวเลขออกมาที่ 101,068 ล้านคน ซึ่งเป็นจำนวนของผู้คนที่เคยอาศัยอยู่บนโลกใบนี้
ตัวเลขเหล่านี้บ่งบอกว่ามีคนที่ตายไปแล้วมากกว่า 13 เท่า ของจำนวนผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ ไม่อยากจะนึกภาพเลยว่าหากเราอยู่ในโลกภาพยนตร์ แล้วมองดูเหล่ากองทัพซอมบี้, ผี หรือไวท์วอล์กเกอร์ เหล่านั้นที่ถูกปลุกชีพขึ้นมา พวกเขาจะมีปริมาณที่มหาศาลขนาดไหน อย่างแรกที่จินตนาการได้ก็คือคงจะเยอะจนสุดลูกหูลูกตาเลยทีเดียว หรือคุณอาจจะมองโลกในแง่ดีกว่านั้น ก็จะพบว่าในขณะนี้คุณคือ 7.07 เปอร์เซ็นต์ ของมนุษย์ทุกคนที่เคยมีชีวิตอยู่บนดาวเคราะห์โลก หากปัดเศษเป็นเลขกลมๆก็จะได้ที่ 7 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเราเป็นหนึ่งในนั้น คุณน่าจะเริ่มพอเห็นคุณค่าของชีวิตบ้างแล้ว งั้นมาเริ่มต้นทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อโลกของเรากันดีกว่า!
นักวิจัยคิดค่าประมาณการเหล่านี้ได้อย่างไร? จุดเริ่มต้นมาจากที่ทาง PRB นำมาอ้างอิงจำนวนประชากรก็คือ ในประวัติศาสตร์มนุษย์เมื่อประมาณ 50,000 ปีก่อนคริสตกาล เมื่อ ‘โฮโม เซเปียนส์ ยุคใหม่’ (modern Homo Sapiens) ได้ถือปรากฏขึ้นเป็นครั้งแรก แม้ในทุกวันนี้เรายังมีการถกเถียงกันอยู่ว่าตกลงแล้ว ‘วงศ์ลิงใหญ่’ (Great apes) หรือ ‘โฮมินิด’ (hominid) ในยุคแรกที่เดินดินอยู่บนโลกเกิดขึ้นเมื่อกี่ล้านปีที่แล้วกันแน่ อย่างไรก็ตามปัจจุบันศักราชที่ 50,000 ปีก่อนคริสตกาล ได้ถูกกำหนดเป็นสากลโดยสหประชาชาติ และการวัดแนวโน้มของประชากรโดยทั่วไป
ตาราง มีกี่คนที่เคยอาศัยอยู่บนโลก?
แหล่งอ้างอิง