มุมมองที่เห็นมีสีสันของดาวพุธนี้ สร้างขึ้นโดยใช้ภาพจากแคมเปญในภารกิจหลักของ MESSENGER สีเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งดวงตาของมนุษย์จะมองเห็นได้จริง แต่เป็นสีที่ช่วยเพิ่มเติมให้เห็นถึงความแตกต่างทางเคมี, แร่วิทยา และทางกายภาพระหว่างหิน ที่ประกอบกันขึ้นมาเป็นพื้นผิวของดาวพุธ เครดิต:NASA/Johns Hopkins University Applied Physics Laboratory/Carnegie Institution of Washington
จากงานวิจัยในปี ค.ศ. 2020 ที่ตีพิมพ์ลงในวารสาร ‘ไซเอ็นทีฟิค รีพอร์ต’ (Scientific Reports) ที่ศึกษาเกี่ยวกับความโกลาหลทางภูมิศาสตร์ของดาวพุธ ก็เผยให้เห็นว่าดาวเคราะห์หินดวงนี้มีความเป็นไปได้ที่จะมีส่วนผสมของชีวิตอยู่ ก็อย่างที่ทราบกันว่าดาวพุธนั้นมีพื้นผิวร้อนมากทางฝั่งกลางวัน ซึ่งร้อนพอที่จะหลอมละลายตะกั่วได้ (ตะกั่วมีจุดหลอมเหลวอยู่ที่ 327.5 องศาเซลเซียส ในขณะที่อุณหภูมิบริเวณเส้นศูนย์สูตรของดาวพุธทางฝั่งกลางวันร้อนถึง 427 องศาเซลเซียส ในขณะที่อุณหภูมิฝั่งกลางคืนจะหนาวเย็น -173 องศาเซลเซียส นับได้ว่าเป็นดาวเคราะห์ที่มีอุณหภูมิต่างกันที่ผิวดาวสุดขั้วที่สุดในระบบสุริยะ *แต่ยังไม่ใช่ดาวเคราะห์ที่ร้อนที่สุด!) แน่นอนว่าอุณหภูมิสุดขั้วขนาดนี้คงยากเอามากๆ สำหรับชีวิตใดๆก็ตามที่จะต้องวิวัฒนาการขึ้นมาอยู่บนดาวดวงนี้
แต่จากรายงานล่าสุดก็ชี้ให้เห็นว่า ดาวพุธอาจเคยมีองค์ประกอบที่จำเป็นสำหรับชีวิตอยู่! ถึงแม้จะเป็นเรื่องที่ยากมากๆก็ตาม โดยทฤษฎีใหม่ที่เผยแพร่นี้ได้ศึกษาข้อมูลจากคุณสมบัติที่ยุ่งเหยิงเฉพาะบนดาวเคราะห์ที่โคจรใกล้กับดวงอาทิตย์ที่สุด เป็นที่รู้จักกันในชื่อ ‘ภูมิประเทศที่วุ่นวาย’ (Chaotic terrain) ซึ่งภูมิทัศน์เหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความไม่สม่ำเสมอของพื้นผิว อันประกอบไปด้วยเศษก้อนหินแตก, พื้นผิวต่างระดับ และหลุมอุกกาบาตยุบตัว
ด็อกเตอร์ ‘เดโบราห์ โดมิงก์’ (Deborah Domingue) หนึ่งในผู้ร่วมเขียนบทความจากสถาบันวิทยาศาสตร์ดาวเคราะห์ ณ สำนักงานใหญ่ ในทูซอนรัฐแอริโซนากล่าวเปรียบเทียบให้เห็นถึงพื้นผิวอันแสนขรุขระของดาวพุธประมาณว่า “ให้ลองนึกภาพถึงเด็กที่กำลังเล่นโยนอิฐบล็อกลงสู่พื้นดิน ซึ่งอิฐบล็อกบางส่วนจะตั้งตรง, บางส่วนคว่ำ หรือบางส่วนเอียงเพียงเล็กน้อย แล้วให้สังเกตไปที่พื้นดินยุบตัวเหล่านั้น นั่นแหละคือลักษณะของภูมิประเทศที่วุ่นวายของดาวพุธ”
ในตลอด 50 ปีที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์คิดว่าความวุ่นวายต่างๆบนดาวพุธ เกิดมาจากแผ่นดินไหวที่เคลื่อนตัวไปทั่วทั้งดาว ครั้งเมื่อมีอุกกาบาตขนาดใหญ่ชนเข้าใส่ด้านไกล แต่จากการศึกษาใหม่โดย ดร.เดโบราห์ โดมิงก์ พร้อมกับเพื่อนร่วมงานของเธอ ‘อาเลกซิส โรดริเกซ’ (Alexis Rodriguez) ก็ให้ข้อสังเกตว่าภูมิประเทศบนดาวพุธ ไม่น่าจะก่อตัวมาจากการถูกอุกกาบาตชนเข้าใส่เมื่อประมาณ 2,000 ล้านปีก่อน นอกจากนี้ โดมิงก์ ยังค้นพบอีกว่าความโกลาหลบนพื้นผิวดาวพุธลดลงเมื่อเทียบกับอดีต ราวกับว่ากิจกรรมใต้พื้นผิวดาวนั้นค่อยๆเลือนหายไป
คำอธิบายที่ง่ายที่สุดในเรื่องนี้ก็คือ “สารระเหยใต้ผิวดิน” ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ง่ายจากของแข็งกลายเป็นของเหลว หรือก๊าซ ที่ถูกทำให้ร้อนขึ้นจาก ‘หินหนืด’ (Magma) ที่อยู่เบื้องล่าง การเคลื่อนไหวของหินหนืดเหล่านี้ ส่งผลทำให้องค์ประกอบเหล่านั้นได้เกิดการเปลี่ยนแปลงกลายไปเป็นก๊าซ ด้วยเหตุนี้พื้นผิวดาวพุธส่วนนอก จึงพังทลายลงมาอย่างอลหม่าน ดร.โดมิงก์ บอกว่า ถ้าบ้านของเธอก่อสร้างขึ้นมาอยู่บนเสาที่ไม่แน่นอนแห่งนี้ บ้านของเธอก็จะเอียงเหมือนอย่างที่เห็นบนดาวพุธ
ด็อกเตอร์ ‘พอล เฮย์น’ (Paul Hayne) นักวิทยาศาสตร์ดาวเคราะห์แห่งมหาวิทยาลัยโคโลราโดโบลเดอร์ (ผู้ไม่มีส่วนร่วมกับงานศึกษานี้) ได้ออกมายอมรับว่าคำอธิบายของสิ่งที่เกิดขึ้นกับภูมิประเทศบนดาวพุธ ซึ่งเชื่อกันมาอย่างยาวนานนั้นมีแนวโน้มว่าผิดจริง นอกจากนี้เขายังให้ข้อสังเกตว่าทฤษฎีใหม่นี้สอดคล้องกับสิ่งที่เกิดขึ้นบนดาวอังคาร ในพื้นที่ๆซึ่งมีความคล้ายคลึงกัน ก็อาจมีสาเหตุมาจากการปลดปล่อยของสารระเหยนี้ ซึ่งหากเราค้นพบหลักฐานของการระเหยนี้ ก็มีโอกาสที่เราจะค้นพบ “น้ำ” ได้ด้วยเช่นกัน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของชีวิต! “แม้ทีมนักวิจัยจะไม่สามารถบอกได้ว่าสารระเหยนี้คืออะไร แต่ก็หวังว่าเหตุผลนี้จะนำไปสู่การค้นพบน้ำในที่สุด” กล่าวโดย ดร.โดมิงก์
การค้นพบดังกล่าวดูเหมือนจะขัดแย้งต่อข้อสังเกตที่พบเห็นได้จริงบนดาวพุธ ที่กล่าวว่าสภาพของดาวดวงนี้ไม่น่าเกื้อหนุนต่อการให้กำเนิดองค์ประกอบในชีวิตแต่อย่างใด เพราะอุณหภูมิภพื้นผิวที่หันหน้าเข้าหาดวงอาทิตย์นั้นสามารถสูงได้ถึง 427 องศาเซลเซียส อีกทั้งดาวเคราะห์ดวงนี้ยังไม่มีชั้นบรรยากาศเพื่อมาคอยทำหน้าที่กักเก็บความร้อน นี่จึงทำให้พื้นผิวอีกด้านหนึ่งที่หันหน้าออกจากดวงอาทิตย์ จึงมีอุณหภูมิเย็น -173 องศาเซลเซียส (ด้วยเหตุนี้จึงมีสมญานามว่า “เตาไปแช่แข็ง” แห่ง ระบบสุริยะ)
ด็อกเตอร์ ‘เจฟฟรีย์ คาร์เกล’ (Jeffrey Kargel) หนึ่งในผู้ร่วมเขียนบทความวิจัยจากสถาบันวิทยาศาสตร์ดาวเคราะห์อธิบายว่า ในตอนแรกเขาก็ไม่อยากจะเชื่อ แต่เมื่อลองพิจารณาดูดีๆในความเป็นไปได้ก็พบว่า ที่ความลึกในระดับพอเหมาะ สภาพแวดล้อมในพื้นที่แห่งนั้นจะเย็นกว่าบนพื้นผิวมาก และเอื้อต่อการอยู่อาศัยได้ของชีวิตบางรูปแบบ! แต่ต้องคงอุณหภูมิเช่นนั้นให้นานพอที่ที่น้ำจะกลายเป็นของเหลว มิเช่นนั้นชีวิตจะไม่สามารถอยู่รอดได้ และที่เขาเชื่อเช่นนั้นก็เพราะ ยิ่งเขาขุดหาหลักฐานทางธรณีวิทยาลึกลงไปเท่าไหร่ เขายิ่งค้นพบองค์ประกอบทางเคมี และสภาพเงื่อนไขทางกายภาพที่ชีวิตจะถือดำรงอยู่ได้ ทำให้เขาเริ่มตระหนักถึงแนวคิดนี้ “มันอาจจะฟังดูบ้า แต่ก็ไม่บ้าไปซะทั้งหมด”
ดร.เฮย์น กล่าวว่า เขาไม่คิดว่าเราจะค้นพบมหาสมุทรหรือทะเลสาบขนาดใหญ่ใต้พื้นผิวดาวพุธ และถึงจะมีน้ำ แต่น้ำก็คงมีน้อยและซึมอยู่ภายในก้อนหินเสียมากกว่า อย่างไรก็ตาม ในการศึกษาข้อสันนิษฐานที่ว่าอาจมีน้ำอยู่บนดาวพุธนั้น ก็ช่วยให้นักวิทยาศาสตร์เริ่มมีความหวังในการค้นหาสิ่งมีชีวิตบนดาวเคราะห์ดวงอื่นๆที่มีลักษณะคล้ายกับดาวพุธทั่วกาแล็กซี! เพราะดาวเคราะห์ในลักษณะนี้ ปัจจุบันมีการค้นพบแล้วนับพันดวงที่โคจรอยู่รอบดาวฤกษ์ และบางดวงก็ดูคล้ายกับดาวพุธอีกด้วย ดร.โรดริเกซ กล่าวปิดท้ายว่า หากน้ำสามารถคงรูปเป็นของเหลวอยู่บนดาวพุธได้ สิ่งนี้ก็ย่อมเกิดขึ้นได้กับทุกหนทุกแห่งในจักรวาล
แหล่งอ้างอิง