ดาวเสาร์เป็นดาวเคราะห์แก๊สยักษ์ เช่นเดียวกับดาวพฤหัสบดี จึงทำให้ความน่าจะเป็นที่จะมีสิ่งมีชีวิตบนนั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้เช่นกัน อย่างไรก็ตามสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์สนใจในสถานที่แห่งนี้ไม่ใช่ดาวเสาร์ แต่เป็นดาวบริวารสองดวงที่ชื่อ เอนเซลาดัส และ ไททัน โดยดวงจันทร์เอนเซลาดัสเป็นดวงจันทร์ของดาวเสาร์ที่มีขนาดใหญ่เป็นลำดับที่หก และมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 500 กิโลเมตร หรือมีเป็นขนาดประมาณ 1 ใน 10 เท่าของดวงจันทร์ที่ใหญ่ที่สุดของดาวเสาร์ที่ชื่อไททัน
โดยสภาพแวดล้อมส่วนใหญ่ของเอนเซลาดัสถูกปกคลุมไปด้วยน้ำแข็งที่มีอุณหภูมิติดลบ 198 องศาเซลเซียส จึงทำให้มันกลายเป็นหนึ่งในวัตถุที่สะท้อนแสงได้ดีที่สุดภายในระบบสุริยะ มันถูกค้นพบเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม ค.ศ. 1789 โดย วิลเลียม เฮอร์เชล ผ่านกล้องโทรทรรศน์สะท้อนแสงที่ทันสมัยและมีขนาดใหญ่ที่สุดในยุคนั้นที่ชื่อกล้องโทรทรรศน์ 40 ฟุต (40-foot telescope)
แต่เรารู้อะไรเกี่ยวกับมันน้อยมากจนกระทั่งยานสำรวจอวกาศวอยเอจเจอร์ 1 และ 2 ได้บินเฉียดผ่านในปี ค.ศ. 1980 และ ค.ศ. 1981 ซึ่งเปิดเผยให้เห็นถึงลวดลายอันโดดเด่นต่างๆ บนพื้นผิวของเอนเซลาดัสแก่สายตามวลมนุษย์เป็นครั้งแรก และเด่นชัดยิ่งขึ้นไปอีกในปี ค.ศ. 2005 เมื่อยานอวกาศที่มีชื่อเสียง ‘กัสซีนี–เฮยเคินส์’ ได้บินผ่านเข้าไปใกล้ที่สุด และในปี ค.ศ. 2015 ยานกัสซีนียังเผยให้เห็นว่าที่บริเวณขั้วใต้ของดาวมีการพ่นมวลสารที่อุดมไปด้วยน้ำออกมาจากภูเขาไฟน้ำแข็ง
น้ำพุแห่งนี้ประกอบไปด้วยโมเลกุลของไฮโดรเจนและสารระเหยอื่นๆ รวมทั้งผลึกโซเดียมคลอไรด์และอนุภาคน้ำแข็งขึ้นสู่อวกาศด้วยปริมาณ 200 กิโลกรัมต่อวินาที ทุกวันนี้มีการค้นพบน้ำพุเช่นนี้มากกว่าหนึ่งร้อยแห่ง สิ่งนี้ทำให้นักวิทยาศาสตร์มั่นใจว่าภายใต้เปลือกน้ำแข็งที่หนาแน่นนี้น่าจะมีมหาสมุทรที่เป็นของเหลวอยู่ ในอีกทางหนึ่งหลักฐานนี้ยังบ่งชี้ว่าที่แกนดาวเอนเซลาดัสยังคงมีความร้อนความร้อนคุกรุ่นอยู่ อันเป็นผลเนื่องมาจากแรงไทดัลที่กระทำโดยแรงโน้มถ่วงอันมหาศาลของดาวเสาร์ ในลักษณะเดียวกับดวงจันทร์ยูโรปาของดาวพฤหัสบดี
จากเบาะแสนี่เองจึงทำให้นักวิทยาศาสตร์เริ่มหันมาสนใจเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตนอกโลกบนดวงจันทร์แห่งนี้และพยายามมองหาทฤษฎีกำเนิดชีวิตต่างๆ รวมถึงผลสังเกตการเพิ่มเติมทางดาราศาสตร์ และในวันที่ 27 มิถุนายน ค.ศ. 2018 นักวิทยาศาสตร์รายงานว่าพบเจอโมเลกุลสารอินทรีย์ขนาดใหญ่ที่ซับซ้อนที่ถูกพ่นออกมาจากน้ำพุ สิ่งเหล่านี้บ่งบอกถึงกิจกรรมที่เกิดขึ้นของไฮโดรเทอร์มอร์ หรือ ปล่องน้ำร้อนใต้ทะเล เมื่อหินหนืดก้นมหาสมุทรไหลออกมาสัมผัสกับน้ำ ซึ่งอาจทำให้บริเวณแห่งนั้นมีอุณหภูมิสูงถึง 370 องศาเซลเซียส และเกิดปฏิกิริยาที่ทำให้ปล่องน้ำร้อนก้นมหาสมุทรปลดปล่อยไฮโดรเจนออกมา
โดยหลายทฤษฎีกำเนิดชีวิตเชื่อมโยงอยู่กับการมีอยู่ของปล่องน้ำร้อนเหล่านี้ จากการตรวจสอบธาตุต่างๆโดยละเอียดที่ถูกพ่นออกมาจากขั้วของดาวนอกจากน้ำแล้วยังพบว่ามี ซิลิกา ไนโตรเจน และโมเลกุลอินทรีย์เช่น มีเทน โพรเพน อะเซทิลีน และ ฟอร์มาลดีไฮด์ ที่ล้วนแล้วแต่มีคาร์บอนเป็นส่วนผสมอยู่ภายใน ซึ่งทุกวันนี้เป็นที่รู้กันดีว่าคาร์บอนนั้นคือหัวใจสำคัญต่อโครงสร้างของสิ่งมีชีวิตทุกรูปแบบ ซึ่งอย่างน้อยๆแล้วเราอาจจะได้เห็นสิ่งมีชีวิตจิ๋วที่มีชื่อว่า ‘เมทาโนเจน’ ก็เป็นได้ ซึ่งพวกมันสามารถดำรงอยู่ได้โดยไม่จำเป็นต้องมีออกซิเจน โดยจุลินทรีย์เหล่านี้จะใช้โมเลกุลของไฮโดรเจนที่พบได้ใต้มหาสมุทรมาเป็นแหล่งพลังงานและปลดปล่อยเป็นมีเทนออกมา
แหล่งอ้างอิง