ขณะที่เรากำลังสนใจอยู่กับดาวเคราะห์และดวงจันทร์ขนาดใหญ่อยู่นั้น วัตถุในระบบสุริยะขนาดเล็ก (Small Solar-System Bodies) อื่นๆ ที่ไม่ใช่ทั้งดาวเคราะห์, ดาวเคราะห์แคระ และไม่ใช่ดาวบริวารตามธรรมชาติ แต่โคจรอยู่รอบดวงอาทิตย์ภายในระบบสุริยะอย่างเช่น ดาวหาง และดาวเคราะห์น้อยนั้น ก็มีความน่าสนใจอยู่ไม่ใช่น้อย ที่พวกมันอาจเป็นพาหนะสำคัญให้แก่สิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก
ในขณะเดียวกันก็มีทฤษฎีกำเนิดน้ำและชีวิตบนโลกที่บอกว่า เมื่อประมาณ 4 พันล้านปีก่อน ในตอนที่โลกของเรายังมีอายุน้อย ดาวหางจำนวนมากได้พุ่งชนโลก และน้ำแข็งที่ติดมากับมันก็ละลายกลายเป็นมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ รวมถึงสารตั้งต้นชีวิตที่ติดมากับมันด้วย ดังนั้นหากใครได้เคยเล่นเกมสปอร์ (Spore) มาก่อน เห็นว่าในจุดเริ่มต้นของเกมจะมีดาวหางน้ำแข็งขนาดใหญ่ได้พุ่งเข้าชนใส่ดาวเคราะห์ (ที่เราเลือก) จนระเบิดออก แล้วชิ้นส่วนก็กระจัดกระจายตกลงมากลายเป็นมหาสมุทร ทันใดนั้นสิ่งมีชีวิตตัวน้อยต่างๆ ก็หลุดออกมา โดยหนึ่งในนั้นคือตัวละครของเรา ซึ่งหน้าที่ของเราก็คือต้องค่อยๆ ปรับปรุงสายพันธุ์ให้แข็งแกร่งขึ้น ซึ่งเปรียบเทียบได้กับเชิงวิวัฒนาการเพื่อให้อยู่รอดได้ตามสภาพแวดล้อมอันหลากหลายบนดาวแห่งนั้น ซึ่งพล็อตเกมดังกล่าว บางส่วนไม่ใช่เรื่องที่แต่งขึ้นมาเพื่อความบันเทิงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังอิงถึงความเป็นไปได้ในทางวิทยาศาสตร์ด้วย
ในยุคคริสต์ทศวรรษที่ 1980 ‘เฟรด ฮอยล์’ (Fred Hoyle) และ ‘จันทรา วิกรมสิงเห’ (Chandra Wickramasinghe) เคยร่วมกันเสนอแนวคิดว่าเป็นไปได้ที่สิ่งมีชีวิตชนิด ‘อิกซ์ตรีโมไฟล์’ จะอยู่รอดได้ภายในดาวหางและดาวเคราะห์น้อย โดยจะอาศัยพาหนะดังกล่าวเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ ภายในระบบสุริยะหรือแม้แต่ภายในกาแล็กซี แนวคิดนี้มีอิทธิพลอย่างมากต่อทฤษฎีแพนสเปอร์เมีย (Panspermia) หรือทฤษฎีกำเนิดชีวิตจากอวกาศในปัจจุบัน
ในปี ค.ศ 2013 มีงานวิจัยออกมาสนับสนุนทฤษฎีกำเนิดชีวิตจากก้อนหินหรือก้อนน้ำแข็งจากอวกาศเหล่านี้ ซึ่งพบว่ามีความเป็นไปได้ที่ภายหลังจากตกกระแทกลงพื้นโลกอย่างรุนแรงของเทหวัตถุจากนอกโลกดังกล่าว จะส่งผลทำให้สารเคมีในนั้นอาจสร้างเป็นกรดอะมิโนซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของโปรตีนได้ โดยอิงข้อมูลจากหลักฐานการมีอยู่ของกรดอะมิโนอย่างง่ายซึ่งได้รับการยืนยันว่ามีอยู่จริงบนดาวหาง 81P/Wild โดยภารกิจสตาร์ดัสท์ (Stardust) ของนาซา
ยานอวกาศสตาร์ดัสท์ ได้เก็บตัวอย่างอนุภาคที่กระจายออกมาจากโคมาของดาวหาง เมื่อวันที่ 2 มกราคม ค.ศ. 2004 ก่อนตัวอย่างนั้นจะเดินทางกลับมายังโลกในอีกสองปีให้หลังในวันที่ 15 กรกฎาคม ค.ศ. 2006 และจากการตรวจสอบโดยละเอียดก็พบว่าภายในฝุ่นที่รวบรวมมาได้นี้มีสารประกอบอินทรีย์ไนโตรเจนที่ใช้ได้อยู่หลายตัว
เพื่อพิสูจน์ว่าโมเลกุลอินทรีย์ที่ซับซ้อนนั้นจะสามารถเกิดขึ้นได้โดยกระบวนการช็อคสังเคราะห์ (Shock synthesis – คือการที่โมเลกุลอินทรีย์ที่ซับซ้อนก่อตัวขึ้นมาขณะตกกระแทกด้วยความเร็วสูง) นักวิทยาศาสตร์จึงได้ทำส่วนผสมของน้ำแข็งเลียนแบบให้คล้ายกับที่พบได้บนดาวหาง แล้วนำมายิงใส่ด้วยกระสุนโลหะจากปืนแก๊สเบา (Light-gas gun) ด้วยความเร็ว 6 กิโลเมตรต่อวินาที พวกเขาพบว่าผลกระทบจากแรงอัดกระแทกนี้ ทำให้เกิดมีกรดอะมิโนหลายชนิดออกมา ซึ่งรวมถึง แอล-อะลานีน, ดี-อะลานีน และ กรดอะมิโนที่ไม่ใช่โปรตีน, แอลฟา-กรดอะมิโนโพรพาโนอิก และ ไอโซวาลีน รวมทั้งสารตั้งต้นอื่นๆ การค้นพบนี้แสดงให้เห็นว่าส่วนประกอบของโปรตีนนั้นสามารถเกิดขึ้นและการกระจายตัวอยู่ภายในระบบสุริยะของเราได้ ผ่านการชนกระแทกกันของก้อนหินน้ำแข็ง ซึ่งในกรณีนี่คือดาวหาง หรือดาวเคราะห์น้อย และจากข้อมูลเสริมเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม ค.ศ. 2014 นักวิทยาศาสตร์ประกาศว่าเป็นไปได้ที่ตัวอย่างที่เก็บมาได้จากภารกิจสตาร์ดัสท์นั้นอาจจะเป็น ‘ฝุ่นระหว่างดวงดาว’ (Interstellar dust) หากนี่เป็นเรื่องจริงก็เท่ากับว่าเราได้ค้นพบสารประกอบของชีวิตเอเลี่ยนที่ไม่ได้มาจากระบบสุริยะของเราเข้าให้แล้ว
ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2011 นักวิจัยจากนาซายังออกมาสนับสนุนอีกแรง และบอกว่าส่วนประกอบใน ‘ดีเอ็นเอ’ และ ‘อาร์เอ็นเอ’ ของเราอาจก่อตัวขึ้นอยู่บนดาวเคราะห์น้อยและดาวหางในอวกาศ จากข้อมูลทั้งหลายที่ได้หยิบยกมาข้างต้น ก็ดูเหมือนว่าแม้แต่ชีวิตบนโลกทั้งหลาย บางทีแล้วพวกเรา ก็อาจเป็นเอเลี่ยนเสียเองก็เป็นได้ แล้วอย่าลืมว่าถ้าสารประกอบชีวิตเหล่านี้สามารถตกลงมาจนสร้างชีวิตบนโลกของเราได้ ในอีกทางหนึ่งพวกมันก็สามารถเดินทางไปทั่วทั้งระบบสุริยะแล้วพุ่งชนเข้าใส่ดาวเคราะห์, ดาวเคราะห์แคระ หรือดาวบริวารต่างๆได้ด้วย ซึ่งนี่จะเป็นภารกิจที่ท้าทายต่อการสำรวจระบบสุริยะของเราอย่างมากในอนาคต เพื่อออกค้นหาความจริงเกี่ยวกับต้นกำเนิดชีวิตที่ทรู
แหล่งอ้างอิง