หากเราย้อนเวลากลับไปเรื่อยๆ จักรวาลก็จะค่อยๆเล็กลงจนกลายเป็นหลุมดำ ที่ซึ่งเวลานั้นหยุดนิ่ง เราย้อนไปไกลกว่านั่นไม่ได้อีกแล้ว เพราะไม่มีเวลาอยู่ก่อนบิกแบง ดังนั้นจึงไม่มีผู้สร้าง เพราะไม่มีเวลาให้ผู้สร้างได้ดำรงอยู่
อธิบายโดย สตีเฟน ฮอว์กิง
ขณะที่เราเดินทางย้อนเวลาสู่อดีต เพื่อค้นหาบิกแบง จักรวาลก็จะมีขนาดเล็กลงเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงจุดที่ทั้งหมดของจักรวาลกลายเป็นอวกาศขนาดเล็กยิ่งยวด เป็นเพียงหลุมดำจิ๋วที่หนาแน่นอย่างถึงขีดสุด เช่นเดียวกับบรรดาหลุมดำในปัจจุบัน ที่ล่องลอยอยู่ในอวกาศ กฎธรรมชาติทำให้เกิดสิ่งที่น่าทึ่งมากมาย กฎเหล่านั้นบอกกับเราว่าที่นี่เวลาจะหยุดนิ่ง คุณไม่สามารถเดินทางไปถึงเวลาก่อนการเกิดบิกแบงได้ เพราะไม่มีเวลาก่อนบิกแบงอยู่จริง และในที่สุดเราก็ค้นพบสิ่งที่ปราศจากต้นเหตุที่มา เพราะไม่มีเวลาให้ต้นเหตุที่มาเหล่านั้นดำรงอยู่ นั่นหมายความว่า เป็นไปไม่ได้ที่จะมีผู้สร้าง เพราะไม่มีเวลาให้ผู้สร้างได้ดำรงอยู่
เวลาไม่มีอยู่ก่อนบิกแบง ดังนั้นจึงไม่มีเวลาที่พระเจ้าจะทรงสร้างจักรวาลได้ เหมือนการถามทางไปสุดขอบโลกทั้งที่โลกเป็นทรงกลม ไม่มีขอบ ถือเป็นการค้นหาที่ไร้ประโยชน์
สวรรค์ไม่มีจริง ชีวิตหลังความตายก็เช่นกัน ความเชื่อเรื่องชีวิตหลังความตายเป็นแค่ความหวังลมๆแล้งๆ ปราศจากหลักฐานที่น่าเชื่อถือใดๆมาสนับสนุน และขัดแย้งกับทุกสิ่งที่เรารู้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ เมื่อเราตายไป เราก็จะกลายเป็นเถ้าธุลี แต่ในแง่หนึ่งเราจะยังคงอยู่ต่อไป ผ่านอิทธิพลและยีนที่เราส่งต่อไปยังลูกๆของเรา เรามีชีวิตเพียงหนึ่งเดียว เพื่อชื่นชมความยิ่งใหญ่ของจักรวาล และนั่นถือเป็นพระคุณอย่างยิ่งแล้ว
(คำตอบสุดท้ายของ สตีเฟน ฮอว์กิง ที่เขียนอธิบายให้กับคำถามที่ว่า “พระเจ้ามีจริงไหม”)
สิ่งหนึ่งที่ทำให้บุคลิกของฮอว์กิงดูคล้ายกับไอน์สไตน์ก็คือ เขาเป็นคนหัวดื้อ มั่นใจในตัวเอง และกล้าที่จะคิด เขาเชื่อในอิสระทางความคิด และจากประสบการณ์ทำงานมาตลอดชีวิตทางคณิตศาสตร์ของเขา เขามีศรัทธาในตัวเองอย่างแรงกล้าและเชื่อมั่นในคำตอบนี้ว่าจักรวาลสามารถดำรงอยู่ได้โดยไม่จำเป็นต้องมีพระเจ้า หรือถ้ามีพระเจ้าก็คือกฎธรรมชาติ และเขาอยากจะถามต่อพระเจ้าเหลือเกินว่าทำไมพระองค์ถึงคิดคณิตศาสตร์ที่ซับซ้อนเหล่านี้ออกมาได้มากมาย ซึ่งอันที่จริงแล้วแม้แต่พระเจ้าเองก็ต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ธรรมชาติที่ถูกสร้างขึ้นมา โดยมิอาจทำลายได้
ฮอว์กิงพูดติดตลกว่าหรือบางทีการที่เขาเป็นคนเช่นนี้ ที่ดูเหมือนท้าทายต่ออำนาจของพระเจ้า เลยทำให้เขาต้องถูกสาปให้อยู่แต่ในร่างพิการบนรถเข็น อย่างไรก็ตามเขาก็ยังคงเชื่อในวิทยาศาสตร์อยู่ดี
และเขายังเชื่อว่าจักรวาลสามารถเกิดขึ้นมาได้จากการไม่มีอะไรเลยได้ จากความรู้ทางควอนตัมสมัยใหม่พบว่าคู่ของอนุภาคสามารถเกิดขึ้นมาได้จากความว่างเปล่า โดยจะปรากฏแบบสุ่ม ซึ่งเกิดขึ้นทุกจุดในจักรวาลแล้วสลายหายไปอย่างรวดเร็ว
แต่สำหรับที่ขอบฟ้าเหตุการณ์ของหลุมดำแล้ว คู่ของอนุภาคหนึ่งอาจพลัดพรากจากกันได้ และไม่มีโอกาสได้ทำประลัยต่อกัน เนื่องจากถูกกำแพงมืดกั้นเอาไว้ โดยสหายหนึ่งจะมุ่งสู่ภาวะเอกฐาน ในขณะที่อีกสหายหนึ่งจะกระเด็นออกจากขอบฟ้าเหตุการณ์ อันเป็นการค้นพบที่ยิ่งใหญ่ในชื่อ “การแผ่รังสีของฮอว์กิง” การปลดปล่อยพลังงานนี้เมื่อกาลเวลาผ่านไปนานนับล้านๆปี ท้ายที่สุดหลุมดำก็จะสลายตัวไป
จักรวาลในทางความคิดของเขาคือ จักรวาลที่สมดุล แต่เป็นที่ทราบกันดีว่าทุกวันนี้จักรวาลเราขยายตัวออกไปเรื่อยๆ โดยไม่มีทีท่าว่าจะสิ้นสุด ฮอวกิงเชื่อว่าจะต้องมีจักรวาลติดลบอยู่ที่ไหนสักแห่ง ที่เมื่อบวกรวมจักรวาลกันแล้วต้องมีผลลัพธ์เป็น 0 แต่คำถามคือแล้วอะไรที่ไปทำให้ความสมมาตรนี้แตกกระจายออกมา เขาทำนายว่าภายในศตวรรษนี้หลังจากที่เขาจากไป เราจะมีคำตอบแน่นอน โดยฝากความหวังไว้ให้แก่คนรุ่นใหม่ได้ค้นพบความลับของจักรวาลแห่งนี้สืบต่อไป
สำหรับไอน์สไตน์แล้วเขาเชื่อว่าหากมีพระเจ้าอยู่จริง “พระเจ้าคงไม่ทอดลูกเต๋าหรอก” เขาเชื่อว่าจักรวาลของเราดำรงอยู่มาได้อย่างมีแบบแผน และคำนวณได้อย่างสมบูรณ์ ซึ่งเป็นสิ่งตรงกันข้ามกับความจริงในทางกลศาสตร์ควอนตัม ที่ไม่มีสิ่งใดวัดค่าได้อย่างแน่นอน
ฮอว์กิงแสดงความเห็นในเรื่องนี้เอาไว้ว่า หากมีพระเจ้าอยู่ “พระเจ้านั่นแหละที่เป็นนักพนันตัวยงเลย” จักรวาลก็เป็นเหมือนบ่อนกาสิโนขนาดยักษ์ ที่มีการทอดลูกเต๋าและหมุนวงล้อรูเลตต์ในทุกโอกาส ซึ่งเจ้าของกาสิโนเสี่ยงที่จะสูญเสียเงินทุกรอบครั้ง แต่เมื่อเล่นต่อๆกันไปวันนานเข้า ผลรวมเฉลี่ยที่ออกมามักเข้าทางเจ้ามือเสมอ (ดังนั้นก่อนเปิดกาสิโนเจ้าของบ่อนก็ต้องทำให้มั่นใจอยู่แล้วว่าตามหลักทางสถิติแล้ว จำนวนตัวเลขความเป็นไปได้เหล่านั้นจะอยู่ข้างตนตลอด) นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมเจ้ามือถึงรวยกันถ้วนหน้า ดังนั้นโอกาสที่ผู้เล่นจะรวยได้ก็คือ ต้องเดิมพันครั้งใหญ่ โดยการเทหมดหน้าตักกับการทอดลูกเต๋า หรือหมุนวงล้อรูเลตต์เพียงไม่กี่รอบ
จักรวาลก็เหมือกัน เมื่อมันโตขึ้น จำนวนการทอดลูกเต๋าก็จะเพิ่มมากขึ้น ซึ่งผลเฉลี่ยก็เป็นสิ่งที่เราสามารถใช้ทำนายความเป็นไปของจักรวาลได้ แต่เมื่อมีจักรวาลเล็กลงเรื่อยๆจนเข้าใกล้กับบิกแบง จำนวนการทอดลูกเต๋าจึงเกิดขึ้นน้อยลง ดังนั้นหลักความไม่แน่นอนถึงเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการพยากรณ์จักรวาล เราจึงได้เห็นว่าทุกวันนี้มีนักวิทยาศาสตร์หลายคนต่างพยายามทำงานกันอย่างหนักเพื่อที่จะผสานเอาทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปของไอน์สไตน์รวมเข้ากับกลศาสตร์ควอนตัมในเรื่องของสิ่งที่เล็กที่สุด มาเป็นทฤษฎีเอกภาพที่จะสามารถใช้อธิบายอดีต ปัจจุบัน และอนาคตของจักรวาลได้อย่างครอบคลุม ขณะนี้จึงมีแต่เพียงเวลาเท่านั้นที่จะเป็นตัวบอกว่าเราจะค้นพบสมการนั้นเมื่อไหร่ และเราจะพิสูจน์มันได้อย่างถูกต้องได้ไหม
อ้างอิงจาก